5 อรหันต์ไวน์บอร์โด


อรหันต์องค์แรก ชาโตร์ ลาตูร์ (Chateau Latour)
เส้นทางเดินของชาโต้ ลาตูร์ แม้จะมิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็เป็นเรื่องของคนรวยที่ทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด ชาโต้ ลาตูร์ กำเนิดในศตวรรษที่ 16 ในตำบลโปอีแญ็ก (Pauillac) ด้วยฝีมือของคนในตระกูลเซกูร์ แรกออกวางตลาดยังเป็นไวน์ที่มีชื่อเสียงไม่โดดเด่นเท่าที่ควร จนกระทั่งในศตวรรษที่ 17 ทายาทตระกูลเซกูร์คนหนึ่งได้สมรสกับเจ้าหญิงซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์บัวบองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ค.ศ.1938-1715) ชาโต้ ลาตูร์ จึงเป็นไวน์ที่มีคนกล่าวถึงในฐานะไวน์เขยกษัตริย์
คราวเกิดปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ทรัพย์สมบัติจำนวนมากของตระกูลเซกูร์ถูกคณะ รสช. ยึดไปกว่าครึ่ง ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ทำให้เกิดกิจการไวน์ของพวกเขาต้องสะดุดหยุดชะงักลงชั่วคราว แต่ชาโต้ ลาตูร์ซวนเซอยู่ไม่นาน พอปี 1842 ไวน์ตระกูลนี้ก็ผงาดอยู่บนฟากฟ้าเปล่งประกายเจิดจำรัส นายอเล็กซานเดอร์ เดอเซกูร์ นอกจากกอบกู้ฐานะให้แก่วงศ์ตระกุลแล้ว ยังกว้านซื้อไร่องุ่นในตำบลโปอีแญ็กออกไปอย่างกว้างขวาง
ปี 1855 เมื่อมีการจัดอับไวนกรองด์ ครูส์ของเขตเมดอกที่กรุงปารีสปรากฏว่าชาโต้ ลาตูร์ คือหนึ่งในไวน์สี่ยี่ห้อที่เป็นแชมป์อยู่ในอันดับหนึ่ง นับเป็นรางวัลโนเบลของเมรัยคลาสสิก
แม้ไวน์ตัวนี้จะรุ่งโรจน์และมีชื่อเสียงกึงก้องกัมปนาท แต่เพราะเหตุไฉนกระไรเล่าไม่มีใครตอบได้ ในปี ค.ศ.1963 ตระกูลเซกูร์ก็ขายกิจการชาโต้ ลาตูร์ที่ดังคับโลกให้แก่ลอร์ดดาวดรายและคณะ แต่ปัจจุบันเจ้าของชาโต้ ลาตูร์คือนายอาลี ลีออง
หากคุณผู้อ่านลองสังเกตุฉลากชาโต้ ลาตูร์ จะเห็นรูปปราสาทพระราชวังหรือคฤหาสน์โอ่โถง แต่โลโก้ของชาโต้ ลาตูร์กลับเป็นรูปหอคอยคร่ำครึ สูงโด่เด่ และมีสิงโตผอมกระหร่องกวัดแกว่งหางอย่างสบายอารมณ์เหยียบอยู่บนหอคอย
ผมไม่รู้ดอกว่าใครเป็นคนคิดโลโก้ไวน์ยี่ห้อนี้ แต่ยอมรับว่าคนคิดขึ้นมาจะต้องมีอารมณ์จี้ปล้นเข้าขั้นอย่างเหลือร้าย อีหรอบเดียวกับโลโก้สินค้าไทย เช่น ตราไก่เหยียบลูกโลก ลิงถือลูกท้อขี่คอแม่กิมฮวย เสือเผ่นสิบเอ็ดตัว ช้างอ้วนชูงวงกระทืบลิงผอม ค่างโหนกิ่งไม้สั้นจู๋อีกมือถือขวดเหล้า กระรอกปีกใหญ่กว่าตัวบินผ่านวิมานพระอิศวร และตะขาบทายาทอสูรคลานบนห่อยาแก้ไออยู่ยั้วเยี้ย
เหตุที่ชาโต้ ลาตูร์มีโลโก้แผกเพี้ยนกว่าชาโต้อื่นๆ เช่นนี้ เพราะท้ายไร่ที่ติดกับแม่น้ำฌีฮองมีหอคอยรูปร่างเทอะทะเหมือนในฉลากตั้งอยู่จริง มีประวัติเปิดเผยว่าในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 โจรสลัดออกอาละวาดแถบชายฝั่งทะเลปากแม่น้ำฌียองอย่างชุกชุม เที่ยวปล้นสะดมเศรษฐีนักทำเหล้าอย่างดุร้ายโหดเหี้ยม ชาวเมรัยจึงร่วมใจกันสร้างหอคอยดังกล่าวเป็นที่ตั้งปืนใหญ่สำหรับยิงโจรสลัดในปี 1625 แต่ในปัจจุบันเป็นที่เก็บไวน์ที่เรียกว่า เซส์ ที่ใหญ่โตของชาโต้ ลาตูร์
ชาโต้ ลาตูร์ที่ทุกคนรู้จักในวันนี้ คือไวน์แดงที่หอมนุ่มนวลที่สุด ราคาแพงจนต้องปีนบันไดขึ้นไปซื้อ ขวดปีทอง (Vintage Years) ราคาเป็นหมื่นๆ บาท ไร่ลาตูร์มีเนื้อที่กว่า 500 ไร่ อยู่ในตำบลโปอีแญ็กแถบถิ่นที่เป็นทำเลทอง และถูกเรียกว่า ยาร์ดีนาจ (Jardinage) พันธุ์องุ่นที่ใช้ ได้แก่ พันธุ์คาแบร์เน่ต์ โซวินยอง (Cabernet Sauvignon) และพันธ์แมร์โลต์ (Merlot) ซึ่งเป็นองุ่นสุดยอดของโลกจึงไม่แปลกเลยที่ Château Latour คืออัญมณีแห่งเครื่องดื่มของโลก
อรหันต์องค์ที่ 2 ชาโตร์ ลาฟิต- รอธส์ชิลด์ (Chateau Lafite-Rothschild)

ถ้าจะระบุว่าสุดยอดใดๆ ในโลกล้วนไม่เคยมีเพียงหนึ่งคงไม่ผิด ดังนั้นไวน์เยี่ยมที่มีรสชาติละลานใจเป็นเหลือหา จึงไม่มียี่ห้อไหนสามารถผูกขาดอยู่โทนโท่เมรัยระดับอ๋องอย่างชาโต้ ลาฟิต-รอธส์ชิลด์ จึงเป็นไวน์พระกาฬที่คอไวน์ต่างก็ยกนิ้วโป้งให้ เพราะแม้แต่ประธานาธิบดีคนที่สามแห่งสหรัฐ นายโธมัส เจฟเฟอร์สัน ก็ยังหลงใหลอย่างไม่อาจหักห้าม
ทั้งยังต้องยืนยันไว้ตรงนี้ด้วยว่า ในขวนไวน์ระดับปีทองด้วยกันของอรหันต์ทั้งห้าที่ ชาโต้ ลาฟิต มีราคาแพงกว่าใครไหนอื่น
ชาโต้ ลาฟิต เป็นไวน์เก๋ากึ๊กที่กำเนิดมากกว่า 8 ศตวรรษแล้ว นายกอมโบ เดอ ลาฟิต จะมีเทือกเถาเหล่ากอมาจากไหนไม่มีใครรู้ จู่ๆ ก็หอมเงินเป็นฟ่อนมาลงทุนซื้อไร่องุ่นที่ตำบลโปอีแญ็กใน ค.ศ.1234 และมุ่งหน้าผลิตไวน์แดงยี่ห้อลาฟิตขึ้นมายุคแรกก็ผลิตได้แค่พอเลี้ยงตัว จวบจน          นายกอมโบสิ้นลมปราณก็ยังไม่โด่งดังทายาทลาฟิตอีกหลายรุ่นดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง จนถึงศตวรรษที่ 14 ชาโต้ ลาฟิตก็กระเดื่องดังในฐานะไวน์เก่าแก่ที่มีรสชาติอร่อยเป็นเหลือหา
ในปี ค.ศ.1794 ชาโต้ ลาฟิต ตกเป็นสมบัติของรัฐ และถูกประมูลขายทิ้งโดยมีพ่อค้าชาวดัตช์คนหนึ่งประมูลได้ แต่ยังไม่ทันเข้าดำเนินกิจการก็ร้อนเงินต้องขายให้แก่เซอร์แซมมวล สก็อต นักทำเหล้าชาวอังกฤษ ซึ่งข้ามน้ำข้ามทะเลขมาปล้ำอยู่กับไวน์ตัวนี้ได้ครึ่งศตวรรษก็ต้องล่มสลายไปอีกตระกูลหนึ่ง และประกาศขายกิจการในปี ค.ศ.11868 ด้วยราคากว่า 200 ล้านฟรังก์ในยุคนั้น
ไวน์ตัวที่ดังที่สุดของโลกซึ่งนายกอมโบ เดอ ลาฟิต เป็นผู้ให้กำเนิดในต้นศตวรรษที่ 13 บัดนี้ผ่านร้อนหนาวมาถึง 634 ปีก็ตกเป็นสมบัติของตระกูลรอธส์ไชลด์ (Rothschild) ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีหนึ่งในสิบของฝรั่งเศสเป็นเจ้าของธนาคารรอธส์ไชลด์ที่ร่ำรวยมหาศาล เป็นนักทำเหล้ามืออาชีพ และเป็นผู้รู้คุณค่าของสรรพสิ่งในโลกที่สุดยอด จากวันนั้นเป็นต้นมา ชาโต้ ลาฟิต จึงต้องเพิ่มชื่อเป็นชาโต้ ลาฟิต-รอธส์ชิลด์
ไร่องุ่นของชาโต้ ลาฟิต-รอธส์ชิลด์มีถึง 750 ไร่ และถือว่าเป็นไร่องุ่นที่มีความสวยงามเป็นยิ่งยวด ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของคอไวน์ระดับ วี.ไอ.พี. ปีทอง (Vintage Years) ของชาโต้ตัวนี้แบ่งเป็นสองยุค ยุคเก่าได้แก่ปี 1797, 1801, 1805, 1811, 1870, 1893, 1895 และ 1900 สำหรับยุคใหม่ ปีทองประกอบด้วยปี 1945, 1949, 1952, 1953, 1955, 1959, 1966, 1970, 1982, 1986, 1988, 1989, 1990 และ 1995 หากคุณไม่กลัวทรัพย์สมบัติต้องบาดเจ็บแล้วล่ะก็ จะเสาะแสวงหามาดื่มก็ย่อมไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด




อรหันต์องค์ที่ 3 ชาโตร์ มาร์โกซ์ (Château Margaux)
เซียน ตัวที่สามของกรองด์ ครูส์ระดับชั้นเปรอมิเย่ร์ ครูส์ คลาสเซ่ ยี่ห้อนี้กำเนิดในศตวรรษที่ 15 ที่มหาปราสาทลาโมธ ตำบลมาร์โกซ์ โดยตระกูลดูร์ฟอรต์ ซึ่งเป็นเจ้าของชาโต้ ดูร์ฟอรต์-วีวองส์ (Château Durfort-Vivens) ไวน์ กรองด์ ครูส์ชั้น 2 เป็นผู้ปั้นชาโต้ มาร์โกซ์ให้เติบใหญ่มากับมือ เดิมทีไวน์ตัวนี้มาจากไวน์สองตัว คือ มาร์กู และมาร์กูส แล้วยุบให้เหลือเป็นตัวเดียว คือ มาร์โกซ์ในปี 1750

                วงศ์วาน ว่านเครือของตระกูลดูร์ฟอรต์ครอบครองชาโต้ มาร์โกซ์อยู่หลายศตวรรษจนถึงปี 1836 จึงขายกิจการให้แก่วีกอง เด อาโกโด ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีของไวน์ตัวนี้ซึ่งกำเนิดจากตระกูลขุนนางผู้ดี มีศิลปะในหัวใจ จึงได้ทุ่มวิญญาณกล่อมเลี้ยงให้เด่นผงาดอยู่ในแวดวงสีน้ำทับทิม ตระกูลอาโกโดได้สร้างตึกมาร์โกซ์ใหม่ในปี 1836 โดยฝีมือของนายวิคตอร์ ลูอิส สถาปนิกที่ดังที่สุดในยุคนั้น เป็นศิลปกรรมยุคบาบิโลนอันล้ำเลิศจนกลายเป็นชาโต้ที่สวยที่สุดของชาโต้ทั้ง ปวงในเมดอกภายในปราสาทตกแต่งจนวิลิศมาหรา คล้ายอาณาจักรอันเร้นลับ ประดับด้วยต้นไม้ล้ำค่าจากมองโกเลีย สร้างทะเลสาบพลิ้วอยู่หน้าปราสาท มีโรงภาพยนตร์ส่วนตัวสำหรับหาความสำราญอยู่กลางทะเลสาบ
                ตระกูล อาโกโดครอบครองชาโต้ มาร์โกซ์ได้เพียง 43 ปี แล้วก็ขายทิ้งให้แก่ตระกูลกองปีเอ-วีในหี 1879 ย่างเข้าฤดูหนาวปี 1925 ก็ถูกขายอีกครั้งให้แก่ดยุค เดอ ลา เตรมูลา แล้วก็ขายอีกครั้งในปี 1935 ให้แก่นายแฟร์นัว ยีนเนซและผองเพื่อน
                บน เส้นทางซับซ้อนของธุรกิจน้ำเมานับร้อยล้านพันล้าน ชาโต้ มาร์โกซ์ได้เปลี่ยนมือเจ้าของและหุ้นส่วนเป็นว่าเล่น จนปี 1949 หุ้นทั้งหมดได้ตกเป็นของตระกูลยีนเนซอย่างเบ็ดเสร็จ
                ล่าสุด ชาโต้ มาร์โกซ์ได้เปลี่ยนเจ้าของอีกแล้ว โดยปี 1977 ตระกูลยีนเนซได้ขายให้แก่นายอังเดร มังเซดรปูโล
                ชาโต้ มาร์โกซ์ นอกจากผลิตไวน์แดงจนมีชื่อกระฉ่อนแล้ว ยังผลิตไวน์ขาวยี่ห้องปาวีญอง บลอง ดู ชาโต้ มาร์โกซ์ (Pavillon Blanc du Château Margaux) จนมีชื่อเสียงโดดเด่น
                มี คนกล่าวกันว่า ไม่เคยมีไวน์ดังระดับกรองด์ ครูส์ของแคว้นบอร์โดซ์ตัวไหนที่นำชื่อตำบลมาตั้งเป็นชื่อไวน์ นอกจากชาโต้ มาร์โกซ์เท่านั้น อย่างตำบลโปอีแญ็ก (Pauillac) ซึ่งมีไวน์ดังระเบิดระดับโลกออกเพียบ ก็ยังไม่เคยมีไวน์ขวดไหนใช้ชื่อ Château Pauillac หรืออย่างเขตโซแตร์นส์ (Sauternes) ก็ไม่เคยมี Château Sauternes นอกจากยี่ห้องมาร์โกซ์เท่านั้นที่แผลงผิดเพื่อน
                เมื่อ คราวสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการขนมปังจำนวนมากจากสหรัฐ เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงพลเมืองที่อดอยาก สหรัฐยื่นข้อเสนอว่า ขนมปังของเขาจะต้องแลกกับไวน์ชาโต้ มาร์โกซ์ ยี่ห้อเดียว
                ชา โต้ มาร์โกซ์ประกาศความยิ่งใหญ่อีกครั้งเป็นซ้ำสองเมื่อปี ค.ศ.1962 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบห้าศตวรรษของมหาวิทยาลัยบอร์โดซ์ มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ของโลกในงานนี้ไวน์ที่ถูกคัดเลือกมาเสิร์ฟจะต้องสุด ยอดเป็นเหลือหา เพราะเป็นงานชุมนุมคนสำคัญระดับชาติ นักวิทยาศาสตร์ตัวเอ้ๆ และนักชิมไวน์ระดับปรมาจารย์ ปรากฏว่ามีไวน์เพียงยี่ห้อเดียวที่ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องดื่มประจำงานนี้ นั่นคือ ชาโต้ มาร์โกซ์ ปีทองของไวน์ตัวนี้ที่น่าจดจำคือ 1928, 1961, 1966, 1967, 1970, 1974, 1982, 1986, 1989, 1990, 1995, 1998 และ 2000


          
อรหันต์องค์ที่ 4 ชาโตร์ โอต์-บรีออง(Chateau Haut-Brion)
     แท้จริงแล้วชาโต้ตัวนี้อยู่นอกเขตเมดอก คืออยู่ในเขตกราฟส์ (Graves) แต่ข้าวนอกนาตัวนี้มีความดีเด่น และมีรสชาติล้ำเลิศอันเหลือเชื่อ จนได้รับการยกย่อง
อยู่ในกลุ่มห้าอรหันต์ของเมดอก หรือเป็นไวน์ระดับกรองด์ ครูส์ชั้นเปรอมิเย่ ร์ ครูส์คลาสเซ่ส์ เรียกว่าถ้าไม่เป็นของจริงที่เป็นเซียนเหยียบเมฆมาเกิด คงไม่บังอาจแทรกขึ้นมาอยู่บนแท่นเกียรติยศในกลุ่มเมดอกได้เป็นแน่แท้ พิสูจน์ ความจริงดังกล่าวง่ายๆ จากบันทึกของนายแซมมวล พีพซ์ (1633-1703) มนุษย์ที่บ้าบอคอแตกที่สุดในประวัติศาสตร์อังกฤษหมดนี่มีชื่อเสียงด้านไม่มี ใครเหมือน โดยเป็นนักจดบันทึกที่ดุเดือดเลือดพล่านยิ่งว่าผู้ใดไหนอื่นเป็น เขาบันทึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในยุคเขาอย่างละเอียดลออทุกวัน ตั้งแต่เด็กจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต นับเป็นแสนหน้ากระดาษ กระทั้งทุกวันนี้ยังไม่เคยมีใครบ้าบันทึกเทียบเท่าเขาได้อีก นายพีพซ์คนนี้ได้บันทึกไวน์ชาโต้ โอต์-บรีอองในวันที่ 10 เมษายน 1693 ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุ 30 ปี แล้วบังเอิญมีโอกาสได้ชิมยอดไวน์ตัวนี้ในลอนดอน
                ...และ บัดนี้ ข้าพเจ้าได้ดื่มไวน์ที่นุ่มนวลกลมกล่อมที่สุดของฝรั่งเศส ชื่อโอต์ ไบรอั้น (ชื่อเรื่องในขณะนั้น) ซึ่งงดงามมาก ดีเยี่ยมอย่างชนิดที่ข้าพเจ้าไม่เคยเจอะเจออะไรที่เยี่ยมเท่านี้มาก่อน
ประวัติ ศาสตร์ของชาโต้ตัวนี้ย้อนหลังไปได้กว่า 500 ปี โดยถือกำเนิดในยุคกลางของยุโรป ซึ่งยุคทองของไวน์ฝรั่งเศส เจ้าของไวน์ตัวนี้คนแรกคือนายแมซอง นอเบลอ เด โอต์-บรีออง ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกต่อไปว่า นายโอต์-บรีอองทำเหล้าตัวนี้สักกี่ปี และลูกหลานสืบทอดมรดกนานแค่ไหน แต่จู่ๆ ในปี ค.ศ.1525 ไวน์ตัวนี้ก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพลเรือเอกฟิลิปป์ เดอ ชาโบ ซึ่งเป็นนายทหารที่ชอบตบเท้าเชียร์เจ้านาย (นับเป็นต้นแบบนายทหารที่ชอบตบเท้าเชียร์นายคนแรกของโลก) จนได้รับการเลื่อนยศปรู๊ดปร๊าด นายพลผู้หลงใหลไวน์ได้ครอบครองชาโต้ โอต์-บรีอองอยู่ไม่นานก็ขายให้ตระกูลปองตัก และตระกูลปองตักนี้เองสร้างชาโต้ตัวนี้ให้เดชกระเดื่องไปยิ่งใหญ่ในอังกฤษ ถึงสามศตวรรษ คือ จากศตวรรษที่ 16-18 จากนั้นชาโต้ โอต์-บรีออง ก็เปลี่ยนเจ้าของเป็นว่าเล่น ท้ายสุดในปี 1935 ไวน์ตัวนี้ตกเป็นสมบัติของหนุ่มชาวอเมริกันชื่อนายคลาเร้น ดิลลอน ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทไฟแนนซ์หลายแห่งไวน์เก่าแก่ตัวนี้ปัจจุบันมีเนื้อที่ปลูกองุ่นประมาณ 270 ไร่ ผลิตไวน์แดงปีละ 17,000 หีบ โดยใช้องุ่นพันธุ์คาแบร์เน่ต์ โซวินยอง 50 เปอร์เซ็นต์ แมร์โลต์ 35 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์คาแบร์เน่ต์ฟรอง 15 เปอร์เซ็นต์




อรหันต์องค์ที่ 5 องค์สุดท้าย ชาโตร์ มูตอง-รอธส์ชิลด์ (Chateau Mouton-Rothschild)
ขณะที่กรุงปารีสมีการประกาศบัญชี 1855 Classification on Médoc เพื่อแบ่งชั้นไวน์ระดับกรองด์ ครูส์ของเมดอกออกเป็น 5 ชั้นนั้น ไวน์ที่อยู่ในชั้นหนึ่งแท้จริงแล้วมีเพียง 4 ตัว ได้แก่ 4 อรหันต์ที่ผมแกะสะเด็ดมาตามลำดับ ส่วน ชาโต้ มูตอง-รอธส์ชิลด์อยู่ในชั้นที่สอง เพิ่งจะได้รับการเลื่อนชั้นให้เข้ามาอยู่ในชั้นที่หนึ่งเมื่อปี 1973 หมาดๆ นี่เอง
ชาโต้ มูตอง-รอธส์ชิลด์จัดเป็นอรหันต์องค์ที่ห้า หรือองค์สุดท้าย
ไวน์ ตัวนี้กำเนิดในศตวรรษที่ 14 ชื่อในยุคแรกค่อนข้างเชย โดยถูกเรียกว่า ชาโต้ พูยัล มีไร่อยู่ในหุบเขาที่อุดมไปด้วยฝูงแกะของตำบลโบอีแญ็ก ซึ่งคำว่า แกะ ในภาษาฝรั่งเศสก็คือ “Mouton” แต่ชาโต้ พูยัลในยุคนั้นยังไม่มีคำว่า มูตอง มาเกี่ยวข้องกับชื่อไวน์
เจ้า ของชาโต้ พูยัลคนแรกๆ จะเป็นใครบ้าง ค้นประวัติไม่เจอะเจอ รู้แต่ว่าในปี 1430 ดยุคแห่งกลูเซตอได้เป็นผู้ซื้อ แล้วตระกูลของเขาดูแลไวน์ตัวนี้อยู่ถึง 423 ปี ก็เกิดความเบื่อหน่ายจึงขายกิจการให้แก่บารอนนาธาเนียล เดอ รอธส์ไชลด์ ในปี 1853 มหาเศรษฐีหนึ่งในสิบของฝรั่งเศส เจ้าของธนาคารรอธส์ไชลด์ผู้มั่งคั่ง
พอ ซื้อกิจการปุ๊บ ตระกูลรอธส์ไชลด์ก็เปลี่ยนชื่อไวน์ตัวนี้เป็นชาโต้ มูตอง-รอธส์ชิลด์และในปี 1855 ได้รับการประกาศให้เป็นกรองด์ ครูส์ ชั้นสอง ตระกูลรอธส์ไชลด์ไม่แฮปปี้กับตำแหน่งนี้ เพราะเขาเชื่อว่าไวน์ของเขาเลิศล้ำพอสมควรอยู่ชั้นหนึ่ง เพื่อลบล้างความอาย พวกเขาจึงเร่งระดับฝีมือเซียนมาผลิตไวน์ตัวนี้อย่างอดทน จนได้รับการเลื่อนขึ้นอันดับหนึ่งในปี 1973 รอคอยยาวนานถึง 118 ปี พวกเขาจึงประสบความสำเร็จ
ปีทองของไวน์ตัวนี้คือ 1939, 1945, 1961, 1970, 1973, 1982, 1986, 1989, 1990 และ 1995 มีไร่องุ่นกว้างขวางถึง 470 ไร่ ผลิตไวน์แดงปีละ 25,000 หีบ ใช้องุ่นพันธุ์คาแบร์เน่ต์ โซวินยอง 80 เปอร์เซ็นต์ คาแบร์เน่ต์ ฟรอง 10 เปอร์เซ็นต์ แมร์โลต์ 8 เปอร์เซ็นต์ และเปอตี แวร์โดต์ 2 เปอร์เซ็นต์

ห้า อรหันต์ของเมดอก ถือว่าเป็นไวน์สุดยอดของโลกที่เนี้ยบที่สุด ในขณะเดียวกันก็แพงที่สุดในโลกด้วย แม้จะดื่มแล้วเหาะไม่ได้ แต่ถ้าอยากรู้ว่าสุดยอดของโลกนั้นคืออะไร ก็น่าจะลองดูนะครับ